คำถามเกี่ยวกับผู้ขายยาเถื่อนและสถานพยาบาลผิดกฎหมาย
๑. เรื่องการขายยาเถื่อน สถานที่รักษาผิดกฎหมายหรืออื่นๆ ที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ทางสัตวแพทยสภาและกรมปศุสัตว์ พยายายามจัดการเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่อาจทำได้ไม่ทั่วถึง เพราะไม่ทราบข้อมูล ทั้งนี้ต้อง ขอให้สมาชิกสัตวแพทยสภาเป็นหูเป็นตา แจ้งเรื่องเข้ามา ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทยสภาโดยตรงครับ แต่สภาจะช่วยดูแลในส่วนนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย พรบ.ยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่มอบอำนาจให้กรมปศุสัตว์เฉพาะการตรวจสอบเกี่ยวกับยาสัตว์ การเข้าตรวจค้นในสถานที่ต้องสงสัยเท่านั้น และจะต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ อย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยครับ จึงทำให้การทำงานไม่คล่องตัวเท่าที่ควรจะเป็น เพราะกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้นครับ
๒. ส่วนเรื่องสถานพยาบาลผิดกฎหมาย ก็เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์และสัตวแพทยสภา หากพบเห็นหรือได้รับแจ้งเรื่องยาเถื่อนหรือสถานพยาบาลผิดกฎหมาย สัตวแพทยสภาจะประสานงานกับกรมปศุสัตว์ซึ่งมีอำนาจในการฟ้องร้องโดยตรงเรื่องสถานพยาบาลผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องยาเถื่อนกรมปศุสัตว์ต้องประสานงานกับ อย. และตำรวจเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้สัตวแพทยสภาและกรมปศุสัตว์ ได้สอดส่องและดำเนินการทางกฏหมายอย่างสม่ำเสมอ แต่อาจทำได้ไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่ทราบข้อมูล และมีผู้ทำผิดกฏหมายรายใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้ขอให้สมาชิกสัตวแพทยสภาช่วย แจ้งเรื่องเข้ามา สัตวแพทยสภาจะดูแลในส่วนนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ
คำถามเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพฯของสัตวแพทยสภาและภาพลักษณ์วิชาชีพสัตวแพทย์
๓. เรื่องของมาตรฐานวิชาชีพฯ สัตวแพทยสภา มีองค์กรที่ดูแล ๒ ส่วนหลัก คือ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางสัตวแพทย์ และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานของการประกอบวิชาชีพขั้นพื้นฐาน โดยศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ ทำหน้าที่เป็นแหล่งให้การศึกษาเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาวิชาชีพให้ทันสมัย ส่วนศูนย์ประเมินฯ ดำเนินการปรับมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นระดับเดียวกัน แม้จะมาจากหลายสถาบันการศึกษา ผ่านการสอบประเมินองค์ความรู้อันถือเป็นการประเมินขั้นต้นตามหลักสากล
๔. เรื่องรักษาภาพลักษณ์วิชาชีพสัตวแพทย์ที่ดี เป็นหน้าที่พื้นฐานของสมาชิกสัตวแพทยสภาทุกท่านที่ต้องช่วยกัน โดยประกอบการรักษาสัตว์อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ หากใครทำผิด หรือขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพฯ เป็นหน้าที่ที่สำคัญของสัตวแพทยสภาก็คือดำเนินการตั้งแต่ประเมินให้บัณฑิตออกมามีมาตรฐานวิชาชีพ จัดให้มีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาวิชาชีพให้ทันสมัย มีองค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิกของสัตวแพทยสภา รวมถึงเจ้าของสัตว์ป่วย เพื่อช่วยให้วิชาชีพเป็นไปตามเป้าหมายของวิชาชีพฯ หากอยู่บนรากฐานของการมีความรู้ที่ถูกต้อง มีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบ เข้าใจในหน้าที่ นำมาซึ่งเกียรติภูมิของวิชาชีพการสัตวแพทย์ เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยมีสัตวแพทยสภา เป็นศูนย์กลางให้กับสมาชิกสัตวแพทยสภาและเจ้าของสัตว์ได้เข้าใจกัน
คำถามเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการสัตวแพทยสภา
๕. เรื่องการทำงานของกรรมการสัตวแพทยสภา กรรมการสัตวแพทยสภาคือ สัตวแพทยอาสา ทำงานให้สมาชิกสัตวแพทยสภาโดยไม่มีผลตอบแทน กรรมการทุกท่านคือ สมาชิกสัตวแพทยสภาที่เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่มาช่วยกันทำงานเพื่อให้วิชาชีพที่เรารักดีขึ้น ตาม พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการสัตวแพทยสภา ประกอบด้วย
(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย และนายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
(๒) กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงกลาโหมหนึ่งคน กระทรวงมหาดไทยหนึ่งคน กระทรวงสาธารณสุขหนึ่งคน กรมประมงหนึ่งคน กรมปศุสัตว์หนึ่งคน และกรุงเทพมหานครหนึ่งคน
(๓) กรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก มีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการใน (๑) และ (๒) รวมกันในขณะเลือกตั้งแต่ละคราว
๖. เรื่องค่าใช้จ่ายของสัตวแพทยสภา การดำเนินงานของสัตวแพทยสภา และกิจกรรมต่างๆ โดยองค์กรทั้งหลายภายใต้สัตวแพทยสภา ก็เพื่อสมาชิกสัตวแพทยสภา ย่อมมีค่าใช้จ่าย อาจมากหรือน้อยแตกต่างกัน ได้แก่ ค่าจัดกิจกรรม ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ค่าใช้สอยสำนักงาน เป็นต้น อนึ่ง ในการทำงานของคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ได้มีกิจกรรมใหม่ที่เกิดเพิ่มขึ้นหลายกิจกรรมเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การจัดการฝึกอบรมด้านผสมเทียม การปรับปรุงเว็บไซด์ เป็นต้น กิจกรรมที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย คณะกรรมการได้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของสมาชิกทุกท่าน
๗. เรื่องค่าธรรมเนียมการสอบใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ การเก็บค่าธรรมเนียมการสอบใบประกอบฯ ก็เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาข้อสอบ การพัฒนาข้อสอบ การจัดสถานที่สอบ การพิมพ์ข้อสอบ การเดินทาง อื่นๆ ซึ่งเมื่อสรุปค่าใช้จ่ายของกิจกรรมแล้ว ทุกครั้งคือ เกือบเท่าทุนหรือติดลบ เช่นเดียวกับการเก็บค่าธรรมเนียมกิจกรรมอื่นๆ ของสัตวแพทยสภานั้น จำนวนค่าธรรมเนียมที่เก็บก็เป็นไปเพื่อให้กิจกรรมนั้นๆ ดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
คำถามเกี่ยวกับสัตวแพทย์ถือเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่
๘. เรื่องนายสัตวแพทย์ป็นบุคลากรทางการแพทย์รึเปล่าตามเอกสาร ก.พ. ที่ นร.๑๐๐๘/ว๑๑ ลงวันที่ ๑๘ มิ.ย. ๒๕๖๒ อาชีพสัตวแพทย์เป็น ๑ ใน ๒๘ สายงานบริการทางการแพทย์ แต่สายงานวิชาการทางการแพทย์หลัก มีดังนี้ ๑. แพทย์ ๒. ทันตแพทย์ ๓. เภสัชกร ๔. พยาบาล ๕. นักกายภาพบำบัด ๖. นักรังสีการแพทย์ ๗. นักเทคนิคการแพทย์ ๘. นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ๙. นักวิชาการสาธารณสุข ในส่วนวิชาชีพสัตวแพทย์นั้น อยู่ในสายงานวิชาชีพเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานบริการทางการแพทย์เท่านั้น
คำถามเกี่ยวกับภาษีของวิชาชีพสัตวแพทย์
๙. ทำไมการเสียภาษีของวิชาชีพสัตวแพทย์จึงไม่อยู่ในหมวดวิชาชีพ ๔๐(๖) ของประมวลรัษฎากร เพราะวิชาชีพการสัตวแพทย์ไม่เป็นการประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ เป็นที่เข้าใจกันเองมานานในหมู่สัตวแพทย์ว่า วิชาชีพสัตวแพทย์เราน่าจะเสียภาษีเหมือนแพทย์ แะก็มีหลายวิชาชีพคล้ายๆ เรา ก็สงสัยเช่นกัน ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักภาษีเงินได้ประเภท ๔๐(๖) กันก่อน เพื่อให้เรามีข้อมูลเดียวกัน วิชาชีพที่ถูกจัดในภาษีเงินได้ประเภท ๔๐(๖) ได้แก่
๑. การประกอบโรคศิลปะ หมายถึงการประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์
๒. กฏหมาย
๓. วิศวะ
๔. สถาปัตยกรรม
๕. นักบัญชี
๖. ช่างประณีตศิลปกรรม
ทีนี้เรามาดูว่าการเสียภาษีของแต่ละกลุ่มวิชาชีพเค้าเสียกันอย่างไร
- กลุ่มวิชาชีพการประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้ ๖๐% หรือหักตามจริงของเงินเรียกเก็บ
- กลุ่มกฎหมาย, วิศวกรรม, สถาปัตยกรรม, บัญชี, ช่างประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้๓๐% หรือหักตามจริงของเงินเรียกเก็บ
ในอดีต หลายครั้งที่สัตวแพทย์รุ่นพี่ที่ได้รับมอบหมายได้ไปเจรจากับสรรพากร แต่มิได้ผล และด้วยการสื่อสารยังไม่ดีเท่าปัจจุบันทำให้ไม่มีการเผยแพร่ผลการเจรจา หรืออาจจะทราบกันแค่ในสัตวแพทย์ด้วยกันในยุคนั้นๆ เช่น ปี พศ. ๒๕๒๖, ยุคภาษีมูลค่าเพิ่ม และยุคปัจจุบัน หากลองวิเคราะห์ ภาษีเงินได้ประเภท ๔๐(๖) เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น วิศวกร นักกฎหมาย นักสถาปัตยกรรม การบัญชี และช่างประณีตศิลปกรรม ผลการวิเคราะห์จะได้ดังนี้
๑. สัตวแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพอิสระก็จะถูกหักค่าใช้จ่ายได้ ๓๐% หรือตามความเป็นจริง ซึ่งในอดีต เช่น ปี ๒๕๒๗ หักเหมาจ่ายในการรักษาได้ ๗๐% ถ้าเทียบกับแพทย์หักได้ ๖๐% ในยุคภาษีมูลค่าเพิ่ม ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มอีก ๗% ของค่ารักษาวิชาชีพ ก็จะไม่ได้เสียภาษีเพิ่มแต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันทุกวิชาชีพจะถูกหักเหมาจ่ายได้ ๖๐% เท่ากันหมด
๒. ผู้ประกอบวิชาชีพที่อยู่ในภาษีเงินได้ตามข้อ ๔๐(๖) ถ้าไปทำงานแล้วรับเงินเดือนประจำ ก็ถูกจัดให้เสียภาษีตามข้อ ๔๐(๑) ถ้าไปรับจ้างเหมางานก็อยู่ใน ๔๐(๒), ภาษีเงินได้ตามข้อ ๔๐(๖) คือต้องประกอบวิชาชีพอิสระที่เก็บเงินจากลูกค้าโดยตรงเท่านั้น
ประมาณปี ๒๕๖๐ กรมสรรพากรได้เปลี่ยนกติกาการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายของทุกสาขาวิชาชีพเป็น ๖๐% เหมือนกันหมด ดังนั้นเราจะเห็นว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน ก็จะหักได้เหมือนกันหมดคือหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้ ๖๐% ยกเว้นวิชาชีพทนาย, วิศวกร,สถาปัตยกรรม, บัญชีและช่างประณีตศิลปกรรม ที่ยังคงหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้เพียง ๓๐% คงเดิม ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าวิชาชีพสัตวแพทย์ต้องเข้าไปอยู่ใน ๔๐(๖) สัตวแพทย์ที่ใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายจะต้องเสียภาษีมากขึ้น ๓-๔ เท่าตัวตามอัตราก้าวหน้าทางภาษี
ส่วนสัตวแพทย์ที่จ่ายภาษี ๔๐(๘) หักภาษีตามจริง จำเป็นต้องมีการเช็คสต๊อคสินค้า มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามจริง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่าย เพราะทุกอย่างเป็นไปตามระบบ แน่นอนและตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดทุกวิชาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบโรคศิลปะที่ทำงานกินเงินเดือน ก็ต้องเสียภาษีแบบ ๔๐(๑) หรือไปรับทำอิสระแล้วรับเงินจากบริษัทก็ถูกจัดอยู่ในข้อ ๔๐(๒)
ดังนั้น สัตวแพทย์จะพิจารณาเองว่า จะเสียภาษีตามประเภท ๔๐(๖) หรือไม่ ตามความเห็นของสัตวแพทย์รุ่นอาวุโสที่มีกิจการสถานรักษาพยาบาลสัตว์ เห็นว่าเราจะได้ประโยชน์สูงสุด หากวิชาชีพสัตวแพทย์จัดอยู่ใน ๔๐(๘) ยกเว้น กรมสรรพากรจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
คำถามเกี่ยวกับการวางแผนการทำงานของสัตวแพทยสภา (ทุกประเด็นได้นำเสนอและรับทราบแล้ว)
๑๐. เรื่องนำเสนอผลงานของสัตวแพทยสภาเป็น Executive summary รับทราบและจะจัดทำต่อไป และเผยแพร่บนเว็ปไซด์ของสภา
-รับทราบและกำลังดำเนินการ
๑๑. เรื่องขอให้เผยแพร่คดีของสมาชิกที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ
-สัตวแพทยสภาจะจัดทำและเผยแพร่ จำนวนคดีเรื่องที่เสนอให้สภาพิจารณา และจำนวนเรื่องที่พิจารณาแล้วว่าผิดจรรยาบรรณ แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดของคดีได้ เช่นชื่อสถานพยาบาลนั้นๆ ทางสื่อได้ เพราะอาจจะผิดกฏหมายตาม พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ๒๕๖๓
๑๒. เรื่องเสนอให้จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานของสัตวแพทยสภา
-การกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานของสัตวแพทยสภาในแต่ละปี เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกและวิชาชีพ ทางกรรมการรับไว้เพื่อดำเนินการต่อไป
๑๓. เรื่องทำไมสัตวแพทยสภาไม่มีอำนาจในการตรวจจับ
-หากเป็นการกระทำผิดตาม พรบ.สถานพยาบาลสัตว์, พรบ.ยา, พรบ.สวัสดิภาพสัตว์ หรือ พรบ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สภาไม่มีอำนาจ แต่จะทำได้เฉพาะตาม พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๕ เท่านั้น สัตวแพทยสภามีหน้าที่โดยย่อคือ กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ จากนิสิตสู่สัตวแพทย์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งได้อธิบายไว้ในข้อ (๑) คำถามเกี่ยวกับผู้ขายยาเถือนและสถานพยาบาลผิดกฎหมายแล้ว
ดาวน์โหลดเอกสารการตอบคำถาม.pdf
update 250963